" Originally Posted by nomad97
Pray tell more. Where is it being built and when will it be completed?"
It will be built just next to Kid Teung Bakery
http://surin.thai24.net/listings/kidteung-bakery-and-coffee-shop/
Here is more
information in thai
การบ้านจากพิพิธภัณฑ์ช้าง จ.สุรินทร์
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: ภูมิพงศ์ คุ้มวงษ์
ประเทศไทยโฆษณาหนักหนา ว่าติดอันดับโลกเรื่องค้าข้าวส่งออก และมีพันธุ์ข้าวดีที่สุดอย่างหอมมะลิ แต่ไทยไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์ข้าวและยกย่องชาวไร่ชาวนา
แม้ “ช้างไทย” สัตว์คู่บ้านคู่เมือง สมัยหนึ่งเคยใช้เป็นสัญลักษณ์บนผืนธงชาติ ปัจจุบันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไทยก็ไม่เคยมี (หรือคิดจะมี) พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมองค์ความรู้เรื่องช้างเช่นกัน และอย่าหวังว่าองค์กรที่มืดบอดด้านวัฒนธรรมอย่างรัฐจะช่วยเนรมิตขึ้นด้วยเห็นค่าความสำคัญ
นิมิตดีที่วันนี้บนพื้นที่กว่า ๖ ไร่ใจกลางเมืองสุรินทร์ โครงการพิพิธภัณฑ์ช้าง ภายใต้ชื่อ “เดอะช้างโนวเลจพาร์ค” ของ คุณสมโรจน์ คูกิตติเกษม ที่เขาใช้เวลาเก็บข้อมูลเรื่องช้างกว่าค่อนชีวิต พร้อมลงทุน (ส่วนตัว) ลงแรงสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อ ๓ ปีก่อน ถึงเวลานี้ ใกล้ได้อวดโฉมเต็มที
เช้าวันเสาร์ ผมนัดพบคุณสมโรจน์ เรานัดคุยกันที่เรือนไทยหน้าพิพิธภัณฑ์ช้าง ภายใต้บุคลิกคหบดีใหญ่ แต่งกายสุภาพ น้ำเสียงพูดจาสุขุมรอบคอบและค่อนข้างเป็นทางการ ความเป็นกันเองและมีเมตตาคือสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากเขา เป็นเวลากว่าชั่วโมงที่เขาเปิดใจเรื่องพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ผมฟังอย่างน่าสนใจ
“ผมเกิดที่สุรินทร์และคลุกคลีกับช้างตั้งแต่เด็ก ทั้งเคยเลี้ยงไว้ที่บ้านกว่าสิบเชือก ต่อมามีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชาอนุรักษ์และจัดการช้าง ม.ราชมงคล สุรินทร์ หมอช้างทั้งจังหวัดผมเชิญมาบรรยายหมดแล้ว หมอสะเดียงแก่ สะดำ หมอเฒ่า ครูบาเฒ่า ผมจึงมีข้อมูล เครื่องใช้ไม้สอย และอวัยวะสำคัญของช้างสะสมไว้มากพอควร
“ถามว่าถ้าผมเขียนหนังสือเรื่องช้างสักเล่ม จะมีกี่คนที่สนใจอ่าน พิพิธภัณฑ์มันครบวงจร คนทั่วไปเข้าถึงง่ายกว่า ทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ความรู้ แล้วที่นี่ไม่ได้โชว์แต่ของอย่างเดียว ทุกแง่มุมคุ้มกับเวลาที่เสียไป เรื่องราวต่างๆ ล้วนประเทืองปัญญาและต่อยอดได้ทั้งสิ้น
“คนเราภูมิใจก็ด้วยมีอนุสาวรีย์เป็นของตนเอง อนุสาวรีย์ที่ไม่ใช่รูปปั้นผมนะ แต่ผมคืนประโยชน์แก่แผ่นดิน ฝากมรดกให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชม ซึ่งนั่นหมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ผมกำลังทำอยู่นี้”
พิพิธภัณฑ์ช้างประกอบด้วยอาคารหลังใหญ่ ๒ หลัง (ไม่นับรวมอาคารที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง) โครงสร้างก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยประยุกต์ ใช้ไม้จริงประดับตกแต่ง อาคารปีกซ้ายชั้นบนเป็นห้องโถงปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่อย่างดี อาคารปีกขวาเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐาน “พระพิฆเนศปางมหาเศรษฐีโรจนฤทธิ์” องค์ทองอร่ามขนาดสูงกว่าคนจริงเท่าครึ่ง
“ก่อนชมต้องเข้าห้องฟังบรรยายสรุป จากนั้นเป็นห้องแสดงต่างๆ ห้องงาช้าง วิถีชีวิตชาวกูย (ส่วย) ช้างกับความเชื่อ ช้างกับศาสนา ช้างกับพระมหากษัตริย์ และวิวัฒนาการช้างดึกดำบรรพ์ ของที่นำมาจัดแสดงเป็นของแท้ทั้งหมด ไม่มีการทำขึ้นใหม่ คือผมให้เกียรติคนที่มาเยี่ยมชม
“ยกตัวอย่างสักห้องสองห้องก็ได้ ห้องแสดงงาช้าง เป็นงาช่วงรอบศตวรรษที่ผมเสาะหามาครอบครอง ในห้องนี้คุณจะเห็นงาช้างหลายประเภท ไม่ว่างาหิน งาหยวก งาหวาย งาเครือ งาปลี งากำจัด งากำจาย ฯลฯ โดยเฉพาะงาช้างดำงาช้างแดงและฟอสซิลช้างโบราณ ถามว่ามีจำนวนมากน้อยขนาดไหน พูดได้ว่าอลังการก็แล้วกัน
“ห้องช้างดึกดำบรรพ์ ห้องนี้แสดงต้นกำเนิดบรรพบุรุษช้าง ช้างมีกี่สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีต้นกำเนิดจากไหน โดยเฉพาะ ๑๑ สายพันธุ์ในไทย เรามีหุ่นจำลองถอดลักษณะเด่นเทียบเคียงให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นงานประณีต ทำมือทั้งหมดโดยช่างของผมเอง
“หรืออย่างช้างเผือก ช้างคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทย คชลักษณ์เป็นอย่างไร พิธีขึ้นระวางช้าง การเห่กล่อมช้างเผือก หรือช้างยืนโรง ใครเห็นก็ต้องทึ้ง ว่านี่คือภูมิปัญญาบรรพบุรุษในการค้นหาช้างสำคัญ พิพิธภัณฑ์ทั่วไปคนดูครั้งเดียวแล้วก็จบ แต่เราจะทำอย่างไรให้เขามาแล้วอยากมาอีก นี่เป็นโจทย์ที่ผมคิดหนัก”
ด้วยความที่คุณสมโรจน์เดินทางทั้งในและต่างประเทศบ่อยครั้ง ทุกครั้งมักแวะชมพิพิธภัณฑ์ก่อนกลับเสมอ จึงนำประสบการณ์ส่วนนี้ปรับใช้อย่างเหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์ของตน บวกกับมีทีมที่ปรึกษาจบสถาปนิกการออกแบบพิพิธภัณฑ์อย่าง ธนศักดิ์ ศรีครุฑ และผู้รู้ระดับดอกเตอร์อีกหลายท่าน ผลงานที่ออกมาจึงเป็นไปตามที่ตั้งใจ
“พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับช้าง เท่าที่ผ่านตายังไม่มีที่ไหนเด่นชัด โดยมากเป็นส่วนประกอบเท่านั้น อย่างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ โคราช ก็เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน แต่ที่นี่ผมย้ำกับทีมงานเสมอว่า องค์ความรู้เรื่องช้างต้องครอบคลุมและสมบูรณ์ที่สุด
“โชคดีมากนะครับ ที่ผมมีอิสระในการทำงาน เพราะเราเป็นเจ้าของโครงการเอง ถ้าวันนี้มีองค์กรภายนอกมาสนับสนุนเงินทุน แต่ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามคำสั่ง มันกลายเป็นเรื่องอึดอัด แล้วแน่นอน ผมไม่เอาด้วย”
อนาคตนอกจากเป็นศูนย์รวมความรู้เรื่องช้าง เขายังพยายามทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ ไม่ว่าจะเป็นเปิดห้องสมุดที่มีหนังสือดีดีให้อ่านฟรี เปิดเวทีเพื่อศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้ให้มีที่อยู่ที่ยืน เปิดพื้นที่ตลาดนัดวัฒนธรรม ฯลฯ และโดยเฉพาะเขาได้จัดตั้งและเป็นประธานกลุ่ม “สุรินทร์สังคีต”
“ผมได้ชักชวนนักดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านที่รู้จัก ส่วนใหญ่เป็นคณาจารย์/นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และสถาบันอื่นๆ รวมตัวกันเล่นดนตรี ก่อตั้งเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อทำประโยชน์แก่โลกดนตรีโดยเฉพาะ จะมีการบรรเลงที่นี่ทุกวันพฤหัสหรือศุกร์ทุกอาทิตย์
“อนาคตผมต้องการเชื่อมโยงความรู้ โดยใช้โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ขับประกอบดนตรีอธิบายเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ สมมุตินะ พอเราเข้าไปห้องครูประกำ วงดนตรีจะทำหน้าที่เล่าความเป็นมาของครูประกำและหมอช้างในอดีต คือแทนที่วิทยากรจะพูดธรรมดา เราก็นำวรรณศิลป์และดนตรีใส่เข้าไป เพราะผมเชื่อว่าศิลปะย่อมส่องทางกัน”
คุณสมโรจน์เล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์จนสุดทาง ก่อนจะเผยว่า ทุกวันนี้ตนใช้เวลาในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำหมดไปกับการกำกับการก่อสร้าง หรือที่เขาใช้คำว่า “รังสรรค์” พิพิธภัณฑ์ ด้วยใส่ใจในทุกรายละเอียดและต้องการให้ทุกตารางนิ้วบนพื้นที่นี้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
โดยส่วนตัวผมมองว่า คุณสมโรจน์ไม่ได้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินหรือเพื่ออนุชนรุ่นหลังเท่านั้น แต่นี่ถือเป็นการเตือนสติสังคม โดยเฉพาะปลุกสำนักชนชั้นนำทั้งหลายให้หันมาทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างที่ควรจะเป็น
ก่อนจากกัน เขานำผมชมพิพิธภัณฑ์โดยรอบด้วยตนเองอย่างภาคภูมิ พร้อมทิ้งท้ายว่า “ใครอยากรู้เรื่องช้างในโลกนี้ ย้ำนะว่า ‘โลกนี้’ ให้มาที่นี่แล้วกัน”
(เดอะช้างโนวเลจพาร์ค ตั้งอยู่ถนนสนิทนิคมรัฐ บริเวณสถานีรถไฟสุรินทร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี ๒๕๕๗)